1.วัดเชียงมั่น
วัดเชียงมั่น ถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง วัดที่เก่าแก่ที่ สุดในตัวเมืองเชียงใหม่และถือเป็นวัดแห่งแรกในเขตกำแพงเมือง เมื่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1839 เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสําคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว
2. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.1888 ขั้นแรกให้ก่อสร้างเจดีย์สูง 23 วา บรรจุพระอัฐิของพญาคำฟูพระราชบิดา ต่อมาอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ" สมัยพญาแสนเมืองมาขึ้นครองเวียงเชียงใหม่ อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงรายมาประดิษฐาน
3. วัดอินทขิลสะดือเมือง
สมัยพญามังรายได้ทรงสร้างวัดสะดือขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองหรือเสาอินทขิลตามตำนานพื้นเมืองเหนือกล่าวถึงการบูชาเสาอินทขิลว่า พระอินทร์ได้ประทานให้ลัวะสมัยการสร้างเวียงนพบุรีโดยเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล พระฤาษีให้กุมภัณฑ์ 2 ตน เอาเสาอินทขิลใส่สาแหรกหามนำไปประดิษฐานไว้ ณ แท่นกลางเมืองนพบุรี ให้ชาวเมืองของลัวะสักการะบูชาก่อนที่จะกลายเป็นเมืองร้าง
.jpg)
.jpg)
เมื่อพญามังรายได้สุบินนิมิตรไล่ตามกวางเผือกจนมาพบชัยภูมิที่ดี จึงมีดำริจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ใน พ.ศ.1835 ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ พญามังรายได้มาสำรวจพื้นที่บริเวณเมืองนพบุรีร้าง พบซากเสาอินทขิลและรูปกุมภัณฑ์อยู่กลางเมือง จึงมีบัญชาให้เสนาชื่อสรีกรชัย แต่งเครื่องบรรณาการไปหาพญาลัวะบนดอยสุเทพ พญาลัวะจึงแนะนำว่าหากเจ้าพญามังรายจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้อยู่เย็นเป็นสุขก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล เมื่อพญามังรายสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แล้วจึงโปรดให้ยกรูปกุมภัณฑ์และเสาอินทขิลที่ประดิษฐานในบริเวณสะดือเมืองขึ้นมาเพื่อให้คนสักการะกราบไหว้ตามคำแนะนำของพญาลัวะ ต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่าวัดอินทขิล แต่เนื่องจากว่าวัดนี้ตั้งอยู่บริเวณสะดือเมือง ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดสะดือเมือง
4. วัดพันเตา
วัดพันเตาหรือวัดปันเต้า สร้างเมื่อ พ.ศ.1934 เป็นวัดร่วมสมัยเดียวกับวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เนื่องจากเคยเป็นเขตสังฆาวาสของวัดโชติการาม(วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร) มีตำนานปฐมเหตุการตั้งเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าสมัยลัวะปกครองสันนิษฐานว่าวัดพันเตาในอดีตเป็นบริเวณบ้านของชื่อว่าเศรษฐีพันเท้า ต่อมาจึงได้ตั้งวัดพันเตาขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมือง ขณะที่อีกตำนานหนึ่ง กล่าวว่า เดิมเป็นสถานที่ตั้งเส้าจำนวนพันเตาหลอมทองหล่อพระพุทธรูปอัฎฐารส ซึ่งประดิษฐานในวิหารวัดเจดีย์หลวง เมื่อทำการหล่อพระเสร็จแล้ว ชาวเมืองจึงสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้นเรียกว่า "วัดพันเตา"
เสนาสนะที่สำคัญคือวิหารหอคำสร้างด้วยไม้สักเดิมเป็นหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศท่านได้สร้างขึ้นเมื่อได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งจากพระยาอุปราชขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์จึงได้สร้างหอคำขึ้นไว้ประดิษฐานพระพุทธรูป ปัจจุบันวิหารหอคำได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ. 2523 ประดิษฐานพระเจ้าปันเต้า(พันเท่า) มีความหมายอันเป็นมงคลว่า "มีความสำเร็จเพิ่มพูนเป็นร้อยเท่าพันเท่า"
5. วัดเจดีย์หลวง
วัดเจดีย์หลวงมีชื่อเรียกหลายชื่อได้แก่ ราชกุฏาคาร วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1934 ถ้านับจนถึงปัจจุบันมีอายุมากกว่า 600 ปี วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ
สมัยพระเจ้าแสนเมืองมาขณะที่มีพระชนม์ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็ทรงสวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสี ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ “พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อสร้างเสร็จ(พระเจ้าติโลกราชสร้างเสริมให้สูงใหญ่ขึ้น)เรียบร้อยแล้วมีระเบียบกระพุ่มยอดเป็นอันเดียว ฐานกว้างด้านละ 52 ศอก สูง 92 ศอก ก่อด้วยศิลาแลงทั้งสี่ด้าน”
นอกจากนั้นวัดเจดีย์หลวงยังเป็นที่ประดิษฐานของเสาอินทขิล ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่มาช้านานมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยก่อนบริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่เป็นที่ตั้งเมืองของพวกลัวะ อาณาจักรลัวะหรือละว้าโบราณที่มาของตำนานเสาอินทขิลนี้นั้นมีศูนย์กลางการปกครองหรือราชธานีอยู่ที่เวียงเชษฐบุรีหรือเวียงเจ็ดริน(อยู่เชิงดอยสุเทพด้านทิศตะวันออก สถานที่เลี้ยงโคนมกรมปศุสัตว์และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปัจจุบัน) และเวียงนพบุรีในเวลาต่อมา แล้วก็ล่มสลายในสมัยขุนหลวงวิรังคะราชันย์แห่งขุนเขาผู้ยิ่งยงเมื่อต้องพ่ายแพ้พระนางจามเทวีแห่งอาณาจักรหริภุญไชยในการทำสงครามเมื่อ พ.ศ.1211
6. วัดแสนเมืองมาหลวง (หัวข่วง)
วัดแสนเมืองมาหลวง(หัวข่วง) แรกสร้างมีชื่อว่าวัดลักขปุราคมารามมีความหมายว่าวัดที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรงสร้าง ในอดีตพระอารามแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำเมืองที่มีความสำคัญมากอีกแห่งหนึ่งเนื่องจากใช้เป็นสถานที่ประชุมทัพและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญต่างๆ
ชื่อวัดหัวข่วง มีที่มาจากที่ตั้งของวัดซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองใกล้กับสนามหลวง(ภาษาล้านนาเรียกว่าข่วง)หรือคุ้มของเจ้านายเป็นธรรมเนียมการสร้างวัดของเมืองทางตอนเหนือของประเทศสังเกตได้ว่ามีพระอารามที่มีชื่อแบบเดียวกันนี้อยู่ในเกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือ และเชียงตุง
ตามพงศาวดารบันทึกไว้ว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาต่อมาในปี พ.ศ. 2063 พระเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ 11 ทรงโปรดให้บูรณะพระเจดีย์วัดหัวข่วงขึ้นใหม่ใหญ่กว่าเก่าและโปรดให้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในมหาเจดีย์นั้นด้วย เมื่อสร้างพระเจดีย์แล้วเสร็จทรงโปรดให้สร้างหอพระมณเฑียรธรรมเพื่อบรรจุคัมภีร์พระไตรปิฎก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าแสนเมืองมา พระอัยกาธิราช (หรือปู่) พระอารามแห่งนี้ร้างอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งพระครูปลัดทรงสวัสดิ์ ปัญญาวชิโรบูรณะฟื้นฟูวัดนี้ขึ้นมาอีกครั้งในปีพ.ศ. 2536 โดยท่านได้สร้างปูชนียสถานสำคัญต่างๆ ขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงแต่พระมหาธาตุเจดีย์เท่านั้น
7. วัดดวงดี
“วัดดวงดี” มีนามเดิมหลายชื่อได้แก่ “พันธนุนมดี” “วัดอุดมดี” “วัดพนมดี” “วันต้นหมากเหนือ” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า วัดดวงดีถูกสร้างโดยมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่ผู้หนึ่ง หลังจากที่พระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว
วัดดวงดีชื่อเป็นศิริมงคล อยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีผู้มาเยี่ยมเยือนกันทุกวัน และมักจะอยู่ในกิจกรรม ไหว้พระ 9 วัดเสมอ
8. วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์
วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ พบว่าเป็นวัดร้างมีอาณาบริเวณไม่กว้างมากนักและมีซากอุโมงค์สำหรับเป็นที่เดินจงกรม มีป้ายติดอยู่กับหลักบอกชื่อว่า "วัดอุโมงค์ (เถรจันทร์)" เรียกอีกอย่างว่า "วัดโพธิ์น้อย"
.jpg)
.jpg)
ในตำนานใบลานได้จารึกไว้ว่าพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ"พระมหาเถรจันทร์" ซึ่งเป็นพระเถรผู้ใหญ่ในยุคนั้นมีความแตกฉานในทางคดีโลกและคดีธรรมเป็นที่เคารพของคนทั้งหลาย พระเจ้ากือนา กษัตริย์อันดับที่ 7 ของเมืองล้านนาไทย ก็ได้ให้ความเคารพนับถือพระเถรจันทร์องค์นี้อย่างสูง เมื่อพระองค์มีข้อสงสัยพระการใด ก็ทรงให้อำมาตย์ ราชบุรุษนำราชยานไปรับ เพื่อเข้าเฝ้าชี้แจงข้อสงสัย ต่อมาเมื่อ "วัดโพธิ์น้อย" ซึ่งมีพระมหาเถรจันทร์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก จึงได้โปรดให้สร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถและพระเจดีย์อุโมงค์ ซึ่งก็เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ.1918 และทรงตั้งชื่อว่า "วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์" บางครั้งพระมหาเถรจันทร์ไปพำนักที่วัดไผ่ 11 กอ เชิงดอยสุเทพเพื่อความสงบ เมื่อพระเจ้ากือนาทรงทราบจึงให้อำมาตย์ราชบุรุษไปสร้างวัดอุโมงค์ไว้อีกที่หนึ่ง ในปี พ.ศ.1921 พระมหาเถรจันทร์จึงได้เป็นเจ้าอาวาสทั้งสองวัด เมื่อท่านอายุได้ 77 ปี มีพรรษาได้ 56 พรรษา ท่านก็ได้มรณะภาพลงที่วัดอุโมงค์แห่งนี้ ในปี พ.ศ.1945
9. วัดล่ามช้าง
เมื่อ พ.ศ.1835 – 1839 พญามังรายมหาราช กษัตริย์แคว้นล้านนา ได้มาสร้างเมืองเชียงใหม่ ทรงประทับอยู่ ณ เวียงเล็กหรือเวียงเชียงมั่น (วัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) เพื่อเตรียมอุปกรณ์การสร้างเมือง พญามังรายได้ทรงเชิญพญาร่วง หรือ ขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แคว้นสุโขทัย และ พญางำ-เมือง กษัตริย์แคว้นพะเยา หรือ ภูกามยาม มาร่วมปรึกษาสร้างเมืองด้วย สร้างเสร็จแล้วได้ขนานนามเมืองว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ด้านทิศตะวันออกของเวียงเล็ก เป็นป่าไม้มีหนองน้ำใหญ่ ช้างราชพาหนะของกษัตริย์ทั้งสามพระองค์และของข้าราชบริพาร คงเลี้ยงและล่ามไว้บริเวณนี้ เรียกว่า "เวียงเชียงช้าง" ต่อมาได้สร้างวัดขึ้นที่เวียงเชียงช้าง ณ ที่เลี้ยงและล่ามช้างเพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถาน ขนานนามว่า "วัดล่ามช้าง" และปั้นรูปช้างถูกล่ามเลี้ยงไว้เป็นสัญลักษณ์ของวัด และเมื่อกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ส่วนหนึ่งอัญเชิญ พระพุทธรูปสำคัญ ได้จากวัดร้างต่างๆนับร้อยองค์ไว้ในวิหารภายในวัดล่ามช้างแห่งนี้